คณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิตจัดทำโครงการ RBS Creative Innovation Start-up

0
426

นักศึกษา และอาจารย์จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมจัดทำทำโครงการ Rangsit Business School (RBS) Creative Innovation Start-up เพื่อแข่งขันกันเขียนแผนธุรกิจ รวมถึง มีการทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของสินค้าหรือ บริการต้นแบบต่างๆ และมาออกบูธโชว์สินค้าต่างๆ ณ ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 โดยมี ผศ.ดร.รุจาภา แพ่งเกษร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มากล่าวเปิดงาน พร้อมพูดสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่ดีมีศักยภาพในการแข่งขัน ภายในงานมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 400 คน นอกจากนี้ การแข่งแผนธุรกิจ RBS ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ได้แก่ ดร.พยัต วุฒิรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดร.ศุภฤกษ์ อร่ามกิจโพธา ผู้จัดการเขตการขาย ฝ่ายตลาดรัฐและอุตสาหกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ คุณคณวัฒน์ อัศวฉัตรโรจน์ Marketing Manager บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด มาเป็นกรรมการตัดสินแผนธุรกิจยอดเยี่ยม พร้อมทั้งให้คำแนะนำต่างแก่นักศึกษาเพื่อใช้นำไปใช้ประกอบการทำธุรกิจได้จริง

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ “CoCoDee กะทิข้นหวาน” ซึ่งผลิตกะทิที่มีรสชาติคล้ายกับนมข้นหวานแต่มีกลิ่นหอมของกะทิ นางสาว ณิชาภา วิเศษเสาร์ นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 จากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด และเป็นตัวแทนจากทีมที่ชนะเลิศ ได้กล่าวว่า “ไอเดียผลิตภัณฑ์เกิดจากการที่มองเห็นคุณค่าของกะทิที่ทุกคนรู้จัก และคุ้นเคยกันดีที่ใช้ประกอบทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ดึงเอกลักษณ์และข้อดี มาพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนสามารถรับประทานได้ในทุกเวลา

นักศึกษาทีม CoCoDee ได้นำเสนอหลักการว่า “มะพร้าวที่นำมาทำกะทิถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และปัจจุบันเองประเทศไทยเรานั้นกำลังประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากถึง 1.2 ล้านไร่ มีผลผลิตประมาณ 1 ล้านตันต่อปี เราจึงนำเอาวัตถุดิบที่มีในประเทศ นั่นก็คือ มะพร้าว  มาพัฒนา แปรรูป ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า อีกทั้งเราอยากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้ด้วย”

จุดเด่นของCocoDee คือ ผลิตภัณฑ์กะทิข้นหวานที่ให้พลังงานต่ำ เพราะเรานำสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมาใช้ ซึ่งแตกต่างจากนมข้นหวานทั่วไปที่ใช้น้ำตาลจึงให้พลังงานต่ำกว่าถึงครึ่งหนึ่ง CocoDee เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจึงไม่มีการเติมวัตถุกันเสีย และที่สำคัญที่สุดของ CocoDee นั่นก็คือ ถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ที่มีการนำเอากะทิมาใช้แทนนม ซึ่งกะทิถือเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงมีไขมันอิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและยังปราศจากไขมันทรานส์อีกด้วย

ส่วนแผนธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็น Smart Farm ซึ่งเป็นApplication ที่ช่วยเกษตรกรในการค้าขายสินค้า ยังมี แผนธุรกิจ แนว Application ต่างๆ มากมาย อาทิ We Share We Care แอพเช่าและให้บริการรถเข็นผู้สูงวัย ตามห้างสรรพสินค้า KARAWA แอพเปรียบเทียบค้นหาคอร์สเรียนต่างๆ

ดร.เฉลิมพร เย็นเยือก อาจารย์ประจำ สาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานโครงการ RBS Creative Innovation Start-up ได้ระบุถึง วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีความสามารถในการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิชาแผนธุรกิจ ซึ่งนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ของคณะบริหารธุรกิจ ต้องเข้าร่วม เพื่อนำความรู้ที่เรียนมาตลอดระยะเวลา ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย มาประยุกต์ใช้โดย ฝึกฝนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การนำไอเดียมาประยุกต์ใช้เขียนแผนงาน การทำการวิเคราะห์ และ ลงภาคปฎิบัติจริง ตั้งแต่การสำรวจตลาด การทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ และ การออกบูธ ทำอีเวนท์เพื่อขายสินค้าและบริการ

ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และอาจารย์ประจำสาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นโค้ชของโครงการประกวดแผนธุรกิจ ได้กล่าวว่า “โลกของการทำธุรกิจในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะ เพราะมีผู้ประกอบการเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก มีการแข่งขันที่สูง แถมยังมีช่องทางการขายที่หลากหลาย ดังนั้นโมเดลการสร้างธุรกิจปัจจุบัน จึงต้องการการทำงานของแต่ละฝ่ายและแผนก ที่มีความยืดหยุ่นที่สูง สามารถปรับเปลี่ยนแผนและกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยทุกฝ่ายต้องทำงานได้แบบมัลติฟังก์ชัน ในปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ แต่ต้องการการเติบโตของบริษัทที่สูงต่างหาก ในส่วนของแผนการเงินนั้น เราควรจะวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทที่เป็นรายเดือน แทนที่จะเน้นวิเคราะห์เป็นรายปี ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะตอบสนองไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในการทำธุรกิจปัจจุบัน อาจารย์เนตรทิพย์ สุรศิริกุล อาจารย์ประจำ หัวหน้าสาขาการตลาด และโค้ชแผนการตลาดของโครงการนี้ ได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า “Creative หรือความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการนำมาประยุกต์ใช้ทางการตลาด ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นก็ตีความได้หลายอย่างทั้ง ความสดใหม่ ความแตกต่าง และทำให้สินค้าและบริการน่าสนใจ ซึ่งนักศึกษารุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้มีความคิดสร้างสรรค์ที่สูงมาก แต่สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ และการตลาดเราต้องรู้เป้าหมายก่อนว่าเราทำไปเพื่ออะไร?ต้องการแก้ปัญหาอะไร? แล้วไอเดียที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้บริโภคได้หรือไม่? ดังนั้นหากเรามีทั้ง creative และยังสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม สินค้าหรือบริการของเราก็จะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ดร.พยัต วุฒิรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินแผนธุรกิจ ได้กล่าวว่า “ความโดดเด่นงานนี้ของ RBS ม.รังสิตอยู่ที่การบ่มเพาะธุรกิจ โดยเริ่มจากการสอนการทำแผนธุรกิจ การให้คำแนะนำแผนธุรกิจในแต่ละส่วน การทำสินค้าหรือบริการให้ออกมาจริงๆ การขายจริงกับลูกค้าจริง ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงๆ ว่าลูกค้าจะซื้อไม่ซื้อ ถามอะไรบ้าง บ่นอะไรบ้าง ข้อสังเกตส่วนตัวของผมจากการเป็นกรรมการมาหลายปีคือ จากเดิมส่วนใหญ่นักศึกษาเลือกทำธุรกิจอาหารเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Application เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น และมีผลงานอื่นๆ ที่หลากหลาย น่าสนใจ”