ผลวิจัยเผย การท่องเที่ยวมวลชน สร้างรายได้ให้ชุมชน

0
310

ผลวิจัย วัชรี หิรัญพันธุ์ นศ.ป.เอก คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผย “ชุมชนท่องเที่ยวป่าตอง” สื่อสารโดยอาศัยภาครัฐ-สื่อมวลชนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก ด้าน “ชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่” สื่อสารโดยใช้ศาสนา-วัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง พร้อมเสนอแนะให้เน้นการท่องเที่ยว​แบบมวลชนเพื่อสร้างรายได้

            จากการวิจัยเรื่อง “การสื่อสารเพื่อการต่อรองกับความขัดแย้งและการปรับตัวของชุมชนการท่องเที่ยวกรณีศึกษาเปรียบเทียบจังหวัดแถบอันดามัน” เพื่อเปรียบเทียบบริบทของชุมชนการท่องเที่ยวป่าตอง และชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ โดยเก็บข้อมูลจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชาวบ้าน เป็นต้น เริ่มจากการศึกษาการสื่อสารด้านการท่องเที่ยว, ศึกษาความขัดแย้งและการสื่อสารเพื่อจัดการกับความขัดแย้ง, ศึกษาการสื่อสารเพื่อต่อรองการใช้อำนาจในการปรับตัว เปรียบเทียบการสื่อสารเพื่อการต่อรองกับความขัดแย้ง และการปรับตัว

            ผลสำรวจ พบว่า ชุมชนการท่องเที่ยวป่าตอง เป็นชุมชนที่มีการท่องเที่ยวมายาวนาน มีหน่วยงานรัฐในชุมชนทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสาร โดยเน้นช่องทางเผยแพร่จากสื่อมวลชนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น จะยึดกฎหมายเข้ามาจัดการ ส่วนปัญหาขยะและความปลอดภัยยังคงมีอยู่ในชุมชน

            ส่วนชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ มีความเป็นเอกลักษณ์​ในเรื่องของศาสนาอิสลาม​ โดยเน้นการพูดคุยสื่อสารกันระหว่างบุคคล มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาภายในชุมชนออกสู่ภายนอกจึงทำให้ความขัดแย้งจากการท่องเที่ยวมีน้อย เพราะอาศัยความเป็นเครือญาติเพื่อจัดการความขัดแย้ง ส่วนเรื่องของปัญหาขยะและความปลอดภัยทางชุมชนสามารถจัดการเองได้ จึงเป็นการต่อรองกับผู้ประกอบการรวมถึงนักท่องเที่ยวให้ปรับตัวเข้ากับชุมชน

           ทั้งนี้ ผู้วิจัย เห็นว่า ชุมชนการท่องเที่ยวทั้ง 2 แห่ง แตกต่างกัน ดังนี้ 1.ชุมชนป่าตอง เป็นชุมชนที่มีรายได้หลักจากธุรกิจท่องเที่ยวมากว่า 50 ปี ด้านชุมชนเกาะยาวใหญ่ เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว มีการขยายตัวมากขึ้นเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา 2. ชุมชนป่าตองมีลักษณะ​การท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวแบบมวลชน (Mass Tourism) ส่วนชุมชนเกาะยาวใหญ่ มีลักษณะแบบทางเลือก (Alternative Tourism) ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนมีความแตกต่างกัน และ 3.ชุมชนเกาะยาวใหญ่ เป็นชุมชนที่มีศาสนาและวัฒนธร​รม​ที่โดดเด่น เนื่องจากประชากร ร้อยละ 99 นับถือ​ศาสนาอิสลาม แต่ชุมชนป่าตอง เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม​

            ผลสรุปจากการวิจัยการท่องเที่ยวในชุมชนทั้ง 2 แห่ง พบว่า ชุมชนการท่องเที่ยวป่าตอง ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงนโยบายของรัฐบาล โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการกำหนดแผนการท่องเที่ยวระดับประเทศ เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลัก มุ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการสื่อสารการท่องเที่ยวของชุมชนการท่องเที่ยวป่าตอง มีรูปแบบการสื่อสารเน้นการสื่อสารจากจากรัฐสู่ชุมชน โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายมาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็ว

            ขณะที่ชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ มีรูปแบบการสื่อสารในชุมชนจึงทำให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนได้อย่างเสรี โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา หรือโต๊ะอิหม่าม ซึ่งมีอำนาจต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงอยากให้รัฐเข้ามาช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อผลประโยชน์ภายในชุมชนที่เท่าเทียมกัน

            สำหรับ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการท่องเที่ยวเป็นปัญหาที่ไม่อาจเลี่ยงได้ เมื่อใดที่มีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกัน คนมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป ความขัดแย้งจึงไม่ใช่เรื่องแปลก การท่องเที่ยวแบบเปิดของชุมชนป่าตอง มีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะ กว่า 50 ปี และมีระดับความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น ระดับความขัดแย้งไม่รุนแรงมาก แต่ชาวบ้านรู้สึกวิตกกังวลเมื่อการท่องเที่ยวเข้ามา เพราะชาวบ้านยังคงต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เงียบสงบมาเพื่อการพักผ่อน ไม่มีสถานบันเทิง หรือมีสิ่งใดที่เข้ามาขัดกับหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม ส่วนการสื่อสารการต่อรองการใช้อำนาจ และการปรับตัวของชุมชนการท่องเที่ยวป่าตอง มีการต่อรองทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ต่อรองด้านศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหลัก

            งานวิจัยดังกล่าวมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.จุดเด่นของการท่องเที่ยว​แบบมวลชน คือ สามารถสร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชน ส่งผลต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ​ของจังหวัด และประเทศ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่เกิดการแข่งขัน​ด้านราคา และทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ​เสื่อมโทรม ตามมาด้วยปัญหาขยะ และปัญหาด้านความปลอดภัย​ แต่หากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นกลุ่มที่เข้าใจวัฒนธรรม​ชุมชน ทรัพยากร​ของชุมชนจะไม่เสื่อมโทรม แต่ไม่สามารถสร้างรายได้มากพอ และไม่มีแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการลงทุน

            2.ชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ ขาดการเก็บข้อมูลด้านจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อทำฐานข้อมูลนักท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี ชุมชนมีลักษณะ​แบบปิดการเดินทางเข้าออกชุมชนค่อนข้างยากลำบากกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่น และยังไม่เปิดรับการท่องเที่ยวแบบเต็มตัว แต่นักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่มที่คุณภาพ

            3.การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของชุมชนป่าตอง ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ทุนชุมชนหายไป แม้ชาวบ้านจะพยายามรักษาท้องถิ่นไว้ให้เหมือนเดิม แต่การหารายได้จากการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวยังมีความสำคัญมากกว่า ดังนั้นจึงต้องสร้างจิตสำนึกและการนำวัฒนธรรม​เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว

            4.ชุมชนการท่องเที่ยวเกาะยาวใหญ่ มีจุดเด่นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหลงเลี้ยงปากท้องของชาวบ้าน มีจิตสำนึกสาธารณะอย่างแท้จริง มีความสามัคคี​ ร่วมแรงร่วมใจกัน และพยายามรักษาความเป็นชุมชนมุสลิมไว้อย่างเข้มแข็ง แต่ขาดทักษะความรู้ทางธุรกิจท่องเที่ยว ขาดหน่วยงานที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

            และ 5.แม้การจัดการสื่อสารการท่องเที่ยวชุมชนป่าตอง จะเป็นเรื่องยาก แต่สามารถดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยการจับมือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สร้างความเข้าใจร่วมกันมีความ โปร่งใส สร้างการยอมรับ และสร้างจิตสาธารณะให้ค่อยๆ เกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายยังจำเป็นต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ทำแบบฉาบฉวย รัฐบาลควรแสดงความใส่ใจในความขัดแย้ง รับเรื่องและเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วตามสถานการณ์

ภาพจาก ททท.