เรื่องเล่าบนเส้นทาง GMS (ตอนเส้นทางในสปป. ลาว)

0
20
เรื่องเล่าบนเส้นทาง GMS (ตอนเส้นทางในสปป. ลาว)
บทความนี้เป็นบทความเล่าเรื่องเส้นทางการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง เส้นทางในสปป. ลาว โดยข้อมูลได้รับเกียรติจากการสัมภาษณ์จากท่านเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ จากงานสัมมนาโลจิสติกส์ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจการค้าชายแดนใน GMS จึงได้นำเอาเรื่องราวมาแบ่งปัน ซึ่งในขณะนั้นท่านเอกอัครราชทูตเพิ่งย้ายไปประจำที่สปป. ลาวได้ ๒ เดือน ท่านกล่าวว่า ท่านกงสุลใหญ่ประเทศไทยประจำสปป. ลาว เพิ่งไปย้ายไปประจำที่คุนหมิงได้ ๒ อาทิตย์ ด้วยที่ท่านเพิ่งมาประจำที่กรุงเวียงจันทน์ใหม่ อาจจะยังมีข้อมูลเชิงลึกหรือความรู้ในเรื่องนี้ได้ยังไม่มากนัก ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
—————————————————————————————-
สปป. ลาว เป็นประเทศที่เล็ก ประชากรน้อย มีลักษณะเป็น Land Lock ไม่มีทางออกทางทะเล ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของสปป. ลาว แต่รัฐบาลก็ได้พยายามปรับยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ GMS โดยที่สปป. ลาวมีการเชื่อมโยง (Connectivity) ในด้านการขนส่งโลจิสติกส์กับกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) อันประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยสปป. ลาวได้นำประโยชน์จากจุดภูมิศาสตร์ GMS มาเป็นจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเปลี่ยนจาก Land Lock มาเป็น Land Link เชื่อมโยงจีนตอนใต้-เวียดนาม-ไทย-พม่า ไปถึงสิงคโปร์
—————————————————————————————-
ท่านเกียรติคุณได้กล่าวว่ารัฐบาลลาวได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเป็นแบตเตอรี่เอเชียเน้นการผลิตกระแสไฟฟ้ามาเป็นยุทธศาสตร์ Land Link เน้นสร้างความเชื่อมโยงระบบขนส่งโลจิสติกส์ แต่ด้วยข้อจำกัดการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงข่ายการคมนาคม ที่จะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เช่น ความช่วยเหลือทางการเงินจาก ADB และ World Bank ปัจจุบันสภาพปัญหาที่น่าเป็นห่วงคืออัตราการกู้เงินและหนี้สาธารณะของสปป. ลาว ค่อนข้างสูง เป็นปัญหาที่ฐบาลให้ความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาโลจิสติกส์
—————————————————————————————-
ท่านเกียรติคุณได้เล่าให้ฟังถึงโครงการพัฒนาที่สำคัญในสปป.ลาว หลายโครงการที่สำคัญและจะเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสปป. ลาว  เช่น
โครงการที่ 1 โครงการรถไฟคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วและมีการตั้งเป้าไว้ให้เสร็จภายในอีกประมาณ 3 ปี โครงการรถไฟจีน-ลาว มีความยาวกว่า 414 กม. มีสะพานยาว 62 กม. เชื่อมประตูชายแดนโมหัน-บ่อเต็น ทางตอนเหนือของลาวและเมืองหลวงเวียงจันทน์
—————————————————————————————-
โครงการที่ 2 คือ ทางด่วนนครหลวงเวียงจันท์-วังเวียง (Vientiane – Vangvieng Expressway) ซึ่งทุกวันนี้การเดินทางจากเวียงจันท์ไปวังเวียงซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของสปป.ลาว ระยะทางรวมประมาณ 100 กิโลเมตรกว่า ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง อุปสรรคที่สำคัญคือถนนแคบ เส้นทางขึ้นเขา หากโครงการทางด่วนเสร็จสามารถร่นระยะเวลาเดินทางเหลือประมาณชั่วโมงกว่า ก็จะเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของลาวได้มากขึ้น จากนั้นจะมีการขยายต่อโครงการไปจนถึงหลวงพระบาง อุดมไชย และจะขยับขึ้นไปทางเหนือเรื่อยๆ
—————————————————————————————-
ส่วนลำดับต่อไป เป็นโครงการที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ท่านได้กล่าวว่า “โครงการที่ 3 ทางด่วน เวียงจันทร์-ปักเซ (Vientiane-Pakse Expressway) โดยทางด่วนเวียงจันทน์-ปากเซ มีความยาวประมาณ 578.6 กม. มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลลาวกำลังพิจารณาอนุมัติเส้นทางดังกล่าว โดยเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางน่าน-หลวงพระบางได้”  นอกจากนี้ก็มีพยายามพัฒนาด้านการบิน มีโครงการพัฒนาสนามบินที่วัดไตย ได้ขยายและปรับปรุงไปถึง 90 % แล้ว มีสายการบินตรงจากหลาย ๆ ประเทศเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน เกาหลี และไทย มีเที่ยวบินตรงวันละ 6-7 เที่ยวบิน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อขยายเส้นทางท่องเที่ยวให้กับกลุ่มนักท่องที่ยวเกาหลีที่นิยมาเที่ยวสปป.ลาวมากขึ้น ปักเซจึงถือว่าเป็นจุดขายของลาว และสามารถสร้างรายได้การท่องเที่ยวให้สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก
—————————————————————————————-
การพัฒนาความเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และคมนาคมจะทำให้สปป.ลาวได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการท่องเที่ยว โจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลลาวคือ “จะทำอย่างให้ไม่เป็นแค่ทางผ่าน” ประเด็นนี้ได้ถูกพูดถึงกันมากขึ้นในวงการวิชาการลาว ดังนั้น สปป. ลาว คงต้องพัฒนาทางผ่านของเขาเองให้มีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้คนหยุดพักบ้าง ไม่เพียงแต่เน้นการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางเหนือของสปป.ลาว เช่นที่เมืองหลวงน้ำทา ที่บริษัทขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการจะสร้างท่าเรือบก (Dry Port) รัฐบาลก็พยายามพัฒนาเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนมากขึ้น เพราะฉะนั้นควรมีการสร้างความเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ให้เอื้อต่อการลงทุนของธุรกิจ เมื่อมีความเชื่อมโยงเกิดขึ้นจะทำให้เกิดธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากสาธาณูปโภคขึ้นพื้นฐาน นักท่องเที่ยวเองก็สามารถแวะพักและใช้บริการ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น ความเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของ สปป. ลาว
—————————————————————————————-
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ท่านเกียรติคุณกล่าวว่า “เรื่องการลงทุนในลาว การทำธุรกิจในลาว ทุกท่านทราบว่ามีอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง แต่ว่ารัฐบาลลาวได้เล็งเห็นถึงปัญหาอุปสรรค และโอกาสที่จะเกิดขึ้น จึงได้เร่งพัฒนาแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกการลงทุนให้กับต่างชาติ ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะเห็นสิ่งต่างๆในสปป.ลาวที่กำลังจะเปลี่ยนไป นายกฯ ทองลุน ได้มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาลาวและส่งเสริมการค้าการลงทุนใช้เชื่อมโยงกับ GMS ต่อไป…”
—————————————————————————————-
DPU RDI: Policy Brief
เรื่องเล่าบนเส้นทาง GMS (ตอนเส้นทางในสปป. ลาว)
ผู้แต่ง ดร. ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล
Author: Dr. Phoommiphat Pongpruttikul
จาก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU
เรียบเรียงโดย อ.วราวุฒิ เรือนคำ
ภาพจาก : Xinhua Silk road, NEWS.CN
21.7.2021