บทวิเคราะห์ : กระแส “การลดใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ” เร่งกระบวนการสู่ความเป็นหลายขั้วของสกุลเงินตรา

0
1

“การลดใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ” นับวันกำลังกลายเป็นกระแสระดับโลกมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ประชาคมระหว่างประเทศต่างก็จับตา

เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยคอร์ปอเรชั่น จำกัด (China National Offshore Oil Corporation-CNOOC) และกลุ่มพลังงานโททาลเอนเนอร์ยีส์ (TotalEnergies) ได้เสร็จสิ้นการทำธุรกรรมซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวโดยใช้เงินเหรินหมินปี้หรือเงินหยวนเป็นสกุลเงินในการชำระหนี้ข้ามแดนเป็นครั้งแรก ธนาคารกลางของบราซิลประกาศว่าสกุลเงินเหรินหมินปี้ได้แซงหน้าสกุลเงินยูโรกลายเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ซึ่งกรณีแรกถือเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นก้าวสำคัญที่เป็นรูปธรรมในการทำธุรกรรมการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวนสำหรับการค้าน้ำมันและก๊าซ ในขณะที่กรณีหลังแสดงให้เห็นว่าเงินเหรินหมินปี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะสกุลเงินสำรอง ภายใต้ระบบสกุลเงินตราต่างประเทศในปัจจุบัน อิทธิพลของเงินเหรินหมินปี้นับวันเพิ่มมากยิ่งขึ้น และแนวโน้มความเป็นหลายขั้วของสกุลเงินตรามีความชัดเจนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเทศต่างๆพากันแสวงหาเส้นทางสู่ความเป็นหลายขั้วของสกุลเงินอย่างแข็งขันด้วยวิธีการอันหลากหลาย เช่น การลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา การส่งเสริมข้อตกลงสกุลเงินทวิภาคี และการเพิ่มความหลากหลายของทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น หนึ่งปีหลังจากที่ตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเนื่องจากวิกฤตยูเครน เงินหยวนได้กลายเป็นสกุลเงินที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดในรัสเซียแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐ ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ได้แสดงท่าทีเปิดกว้างต่อการทำธุรกรรมการค้าด้วยสกุลเงินที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์สหรัฐ บราซิลกับอาร์เจนตินาผลักดันการปรึกษาหารือเกี่ยวกับสกุลเงินร่วมของอเมริกาใต้ ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้ถกประเด็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค อิสราเอลรวมสกุลเงินดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลีย เยนญี่ปุ่น และหยวนจีนไว้ในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศพร้อมไปกับลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2022  สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกนั้นได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1995

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ากระแส “การลดใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ” เกิดจากหลายสาเหตุ แต่กล่าวโดยรวมเป็นเพราะว่าสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดยสวนทางกับกระแสโลกาภิวัตน์และใช้ความเป็นเจ้าโลกทางการเงินตามอำเภอใจ ประเทศต่างๆ จึงพากันถอยห่างจากเงินดอลลาร์สหรัฐหลังพิจารณาจากแง่ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจอย่างมีเหตุผล

ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ได้ยึดทรัพย์สินที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของธนาคารกลางแห่งอัฟกานิสถาน และถึงกับแบ่งทรัพย์สินเหล่านั้นโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งทำให้ประชาคมระหว่างประเทศตื่นตระหนก หลังจากเกิดการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน การคว่ำบาตรที่สหรัฐอเมริกากระทำต่อรัสเซียนั้นยิ่งเกินกว่าที่ประชาคมระหว่างประเทศจะเข้าใจได้ เพราะไม่เพียงอายัดทรัพย์สินและใช้อำนาจรัฐนอกดินแดนเท่านั้น แต่ยังถอดธนาคารรัสเซียออกจากเครือข่ายการเงินสวิฟต์ (SWIFT) แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัสเซียล้ม แต่ทำให้ประเทศต่างๆที่ถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากนั้นพากัน “หวาดกลัว”  การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินของสหรัฐอเมริกาได้ทำลายความสมบูรณ์ของตลาดเป็นอย่างมาก และได้สร้างวิกฤตความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไปทั่วโลก

ในด้านเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์สหรัฐขึ้นอยู่กับสถานะของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ไม่ดีนัก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทำให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น และอำนาจซื้อของเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง เพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในอนาคตข้างหน้าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการถดถอยกระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจ ภายใต้การคาดการณ์เช่นนี้ประเทศจำนวนหนึ่งจึงได้ปรับลดปริมาณการสำรองเงินตราต่างประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดความเสี่ยง โดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆได้พากันผลักดันให้มีการสำรองเงินตราต่างประเทศด้วยสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้มีการทำธุรกรรมการค้าด้วยสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ซึ่งหมายถึงต้องการหลุดพ้นการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฯ และหันไปใช้สกุลเงินในยูโรโซน จีนและเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการทำธุรกรรมการค้า

การที่หลายประเทศใช้มาตรการ “ลดใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ”นั้นย่อมจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งและยาวไกลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ควบคู่ไปกับการผลักดันกระบวนการ “ลดใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ” ย่อมจะเร่งกระบวนการสู่ความเป็นหลายขั้วของสกุลเงินตราให้เร็วยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ความสามารถของสหรัฐอเมริกาในการส่งออกอัตราเงินเฟ้อโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเครื่องมือ และตามด้วยการถ่ายโอนแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้กับทั่วโลกนั้นจะถูกบั่นทอนให้อ่อนลง และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็จะลดลงด้วย อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกก็ย่อมจะค่อยๆ อ่อนลงในขณะที่เสียงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)