“โทษประหารชีวิต” กับความคิดเห็นจากประชาชน

0
225
“โทษประหารชีวิต” กับความคิดเห็นจากประชาชน

ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นในแต่ละวันได้เกิดปัญหา และคดีต่างๆขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กๆ จนถึงขั้นคดีใหญ่ๆ อย่างเช่น คดีฆาตกรรม เมื่อมีการทำผิด ส่งผลให้ต้องมีการใช้กฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ เป็นบทลงโทษในการกระทำผิดนั้นๆ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันก็มีข้อถกเถียงกันถึงบทลงโทษหนึ่ง ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บทลงโทษนั้นคือ “โทษประหารชีวิต” นั่นเอง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องนี้ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 11 มกราคม 2560 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทบทวนโทษประหารชีวิตของผู้กระทำผิดคดีต่างๆ ในประเทศไทย การสำรวจอาศัยการ สุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ “โทษประหารชีวิต” ว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 87.12 ระบุว่า ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป ประชาชน ร้อยละ 8.00 ระบุว่า ไม่ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป และประชาชน ร้อยละ 4.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนในการนำ “โทษประหารชีวิต” มาใช้โดยไม่มีการลดโทษนั้นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.32 ระบุว่า ควรมีการนำ “โทษประหารชีวิต” มาใช้โดยไม่มีการลดโทษในคดีร้ายแรง เพราะ การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังอ่อนมาก ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะไม่หลาบจำ เมื่อมีโอกาสลดหย่อนโทษก็จะออกมากระทำผิดซ้ำอีก ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต้องบังคับใช้กฎหมายบทลงโทษประหารชีวิตให้เด็ดขาด โดยเฉพาะในคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่น เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นต่อไป และน่าจะช่วยลดคดีการก่ออาชญากรรมไปด้วย

ขณะที่ ร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่ควร เพราะ ควรให้โอกาสสำหรับผู้ที่กระทำผิด บางคนอาจจะทำเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือไม่ได้เจตนา และถ้าหากเคยเป็นผู้ที่ทำความดี ให้การเป็นประโยชน์และสำนึกได้ ก็สมควรได้รับการลดโทษ ควรให้โอกาสแก้ตัวและกลับตัวกลับใจ และในบางครั้งก็เคยมีการตัดสินคดีผิดพลาดมาแล้ว แต่ถ้ากระทำผิดซ้ำอีกก็ไม่ควรได้รับการลดโทษ ต้องดูเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ ร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม คดีที่ประชาชนคิดเห็นว่าผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษประหารชีวิตมากที่สุดนั้น พบว่า
อันดับที่ 1 ร้อยละ 56.57 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าข่มขืน
อันดับที่ 2 ร้อยละ 22.04 ระบุว่า เป็นการกระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง
อันดับที่ 3 ร้อยละ 10.65 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา
อันดับที่ 4 ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เป็นคดียาเสพติด
อันดับที่ 5 ร้อยละ 2.48 ระบุว่า เป็นคดีปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่า
อันดับที่ 6 ร้อยละ 1.47 ระบุว่า เป็นคดีทำร้ายผู้อื่น จนเสียชีวิต
อันดับที่ 7 ร้อยละ 1.10 ระบุว่า เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชัน
อันดับที่ 8 ร้อยละ 1.47 ระบุอื่นๆ ได้แก่ คดีก่อการร้าย, คดีทำร้ายร่างกายอุกฉกรรจ์, การข่มขืน, และขึ้นอยู่กับรูปแบบคดีและดุลยพินิจของศาล

ท้ายที่สุดแล้ว ต่อไปในอนาคตรูปแบบการลงโทษของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนในประเทศ และกฎหมายที่จะออกมา หากผู้คนในประเทศอยู่กันอย่างสงบสุข สามัคคีกัน บทลงโทษต่างๆ ก็จะไม่ถูกนำออกมาใช้อย่างแน่นอน