Workshop ศิลปะการเขียนพู่กันจีน

0
622

ศิลปะพู่กันจีนหรือซูฝ่า เป็นศิลปะที่ถือได้ว่าเก่าแก่ที่สุดและแพร่หลายไปทั่วประเทศจีนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งประเภทของตัวอักษรที่ศิลปินนิยมเขียนกันนั้นมีอยู่หลายแบบ เช่น อักษรลี่ซู(隶书) (คำว่าลี่ในภาษาจีนหมายถึง ทาส  กำเนิดโดยทาส ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้)  อักษรข่ายซู(楷书)(หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอักษรจริงหรืออักษรมาตรฐาน) อักษรเฉ่าซู’ (草书)  (คำว่า ‘เฉ่า’ ในภาษาจีนหมายถึง อย่างลวก ๆ หวัดๆ ) อักษรสิงซู(行书) (ซึ่งเป็นหวัดแกมบรรจง) เป็นต้น  ซึ่งลักษณะอักษรที่แตกต่างกัน สามารถแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึกของศิลปิน และความหมายต่างๆ ที่แฝงอยู่ในภาพได้

แม้ว่าศิลปะแขนงนี้จะอาศัยตัวอักษรจีนเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของศิลปิน แต่กระนั้นผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ทางด้านภาษาจีนเลยก็สามารถที่จะซาบซึ้งไปกับความงามของศิลปะการเขียนตัวอักษรจีนได้ เนื่องจากโดยเนื้อแท้แล้วศิลปะแขนงนี้เป็นหนึ่งในศิลปะแนวแอ๊บสแตร็ก(ภาพศิลปะที่มุ่งแสดงความหมาย) เมื่อชมภาพแอ๊บสแตร็กของชาวตะวันตกนั้นเราไม่จำเป็นต้องถามว่า ภาพนี้เป็นภาพอะไร เช่นเดียวกับเมื่อชมภาพการเขียนตัวอักษรจีนก็ไม่จำเป็นต้องถามว่าตัวอักษรจีนตัวนี้คือตัวอะไรเช่นกัน โดยในสมัยถังนั้น มีผู้ได้คิดค้นคำ 120 คำเพื่อตั้งเป็นบรรทัดฐานในการอธิบายรูปแบบของศิลปะการเขียนตัวอักษรจีน โดย 15 คำแรกนั้นมีความว่า

อักษรจีนคือศิลปะที่มีทั้งความหลักแหลม,ลึกลับ,ประณีต,มั่นใจ,สมดุล, ไม่อยู่นิ่ง, มั่นคง,แข็งแกร่ง,นุ่มนวล,สุขุม,ประเปรียว, เยิ่นเย้อ, หรูหรา, สมบูรณ์, และคลาสสิกอยู่รวมกัน

และเพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะการเขียนผู้กันจีน  อาจารย์หลี่เมิง และ อาจารย์หวังตาน จากสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล จึงร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัด Workshop ศิลปะการเขียนพู่กันจีนให้กับนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป  โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน A Week of Art & Design with Eastern Hybrid Technology 2017 ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 60