ไขรหัส 4 กลยุทธ์ ที่ทำให้นโยบายลดความยากจนของจีนประสบความสำเร็จ

0
213

นโยบายของรัฐบาลจีนที่เกี่ยวข้องกับการลดความยากจนในระดับมหาภาค ในการลดจำนวนคนจนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่น่าสนใจและติดตาม ซึ่งเมื่อเราพิจารณา จำนวน ”คนจน” ในประเทศจีน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 1990 มีคนจนในประเทศจีนสูงถึง 752 ล้านคน ที่มีค่าใช้จ่ายต่อวันต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์ต่อวัน (58 บาท/วัน โดยประมาณ) ซึ่งในระยะเวลา 10 ปีต่อมามีคนจนลดลงเหลือ 405 ล้านคน (ลดลง 46% จากปี 90) และข้อมูลล่าสุดในปี 2016 มีจำนวนคนจนเหลือในประเทศจีนเพียง 7 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 ของคนจีนทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และเทียบกับเวลาพัฒนาเพียง 30 ปีเท่านั้น นอกจากนี้หากคิดสัดส่วนการลดลง จะเห็นว่าจีนมีคนจนลดลงเฉลี่ยปีละ 27% ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 30 ปี


.
ประเทศจีนเริ่มการลดความยากจนด้วยวิธีการช่วยเหลือประชาชนยากจนในรูปแบบสวัสดิการที่เท่าเทียมกันระหว่าง ค.ศ. 1949 -1977 (Yao & Wang, 2019) เน้นให้ชุมชนและประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นหลัก รวมทั้งความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การปฏิรูประบบการจัดสรรที่ดินในชนบท แจกอุปกรณ์เครื่องมือทำการเกษตร รัฐบาลรับผิดชอบเลี้ยงคนยากจนบางส่วน เป็นต้น หลังจาก ค.ศ. 1979 เป็นต้นมา โดยการลดความยากจนของจีนสามารถแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนที่สำคัญ (Wang & Liu, 2018)
.
ขั้นตอนที่ 1 เป็นการลดความยากจนจากการปฏิรูประบบระหว่าง ค.ศ. 1979-1985 อนุญาตชาวนาทำสัญญาเช่าที่ดินของรัฐ ส่งผลผลิตส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลเพื่อเป็นค่าเช่าที่ดิน ส่วนที่เหลือสามารถจัดการเองตามความต้องการ
.
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการลดความยากจนด้วยการพัฒนาระหว่าง ค.ศ.1986-2007 จัดตั้งคณะกรรมการลดความยากจนระดับส่วนกลางและมณฑล กำหนดแนวทางการลดความยากจนโดยการอาศัยทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนาการผลิตด้วยตัวเอง ปรับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมด้านชีวกายภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชนยากจนและศักยภาพโดยรวม
.
ขึ้นตอนที่ 3 เป็นการใช้ 2 ระบบเพื่อลดความยากจนระหว่าง ค.ศ. 2008-2012 คือ ระบบการพัฒนาและระบบความช่วยเหลือเพื่อลดความยากจน แบ่งเขตพื้นที่ยากจนของประเทศให้เป็น 11 เขตพิเศษเพื่อระดมกำลังลดความยากจน ในขณะเดียวกัน กำหนดมาตรการเพื่อรับรองให้ครอบครัวที่ยากจนมีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานและการมีบ้านพักอาศัย เป็นต้น และ
.
ขั้นตอนที่ 4 เป็นการลดความยากจนอย่างตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation) เริ่มจาก ค.ศ. 2013 จนถึงปัจจุบัน การลดความยากจนอย่างตรงจุดของประเทศจีนเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 2013 (The state council leading group office of poverty alleviation and development [CAPD], 2013) มีเป้าหมายการลดความยากจนให้ครอบคลุมทุกครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน สร้างกลไกลดความยากจนตรงจุดในระยะยาว ด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ กลยุทธการพิสูจน์ ช่วยเหลือ บริหารจัดการ และการตรวจสอบอย่างตรงจุด สามารถอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้


.
1. การพิสูจน์อย่างตรงจุด (精准识别)
เป็นการพิสูจน์ครอบครัวที่ยากจนและหมู่บ้านที่ยากจนเพื่อสร้างเป็นประวัติ โดยผ่านกระบวนการยื่นคำขอรับพิจารณา ประกาศต่อสาธารณะ การสุ่มตรวจและตรวจสอบซ้ำ โดยมีเกณฑ์การพิสูจน์ครอบครัวยากจนในชนบท กำหนดเส้นแบ่งความยากจนที่รายได้ 2,736 หยวนต่อคนต่อปี (หรือ 12,400 บาท/คน/ปี โดยประมาณ) (CAPD, 2014) แต่ละมณฑลสามารถคัดเลือกจำนวนครอบครัวที่มีฐานะยากจนได้ตามสัดส่วนคนจน (Poverty Incidence) ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศไว้เป็นรายมณฑลและบวกเพิ่มอีก 10% การสร้างประวัติครอบครัวที่ผ่านการพิสูจน์ จะบันทึกข้อมูลครอบครัวทั่วไป สาเหตุที่ทำให้ยากจน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบช่วยเหลือ แผนการช่วยเหลือ และผลการช่วยเหลือ
.
2. การช่วยเหลือเพื่อลดความยากจนอย่างตรงจุด (精准帮扶)
เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกในสาเหตุที่ทำให้ยากจนของครอบครัวและหมู่บ้านที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว หลังจากนั้น กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อจัดทำแผนการช่วยเหลือลดความยากจนรายครอบครัวและรายหมู่บ้าน พร้อมระดมกำลังดำเนินการโดยรัฐบาลระดับเมืองและมณฑล มีการเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ทำงานในคณะทำงาน มีการใช้คณะทำงานประจำหมู่บ้าน และมีการทำงานของรัฐบาลระดับเมืองและมณฑล
.
3. การบริหารจัดการอย่างตรงจุด (精准管理)
เป็นการติดตามผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือพ้นจากความยากจนอย่างใกล้ชิด สร้างเครือข่ายฐานข้อมูลการลดความยากจนระดับประเทศ เพื่อแสดงพลวัตความก้าวหน้าในการลดความยากจน และสนับสนุนการวางแผนตัดสินใจสำหรับงานลดความยากจน CAPD ของคณะรัฐมนตรีสร้าง website การลดความยากจนแห่งประเทศ เพื่อแบ่งปันข้อมูลความต้องการ พร้อมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน กับทรัพยากรลดความยากจนและผู้ที่มีความประสงค์ร่วมช่วยเหลือการลดความยากจนในสังคม ซึ่งสามารถทำให้การจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงจุดได้มากยิ่งขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละระดับจะสร้างฐานข้อมูลย่อยตามความเหมาะสมของท้องถิ่น โดยรัฐบาลส่วนกลางเป็นผู้กำหนดโครงสร้าง (Top-level design)
.
4. การตรวจสอบอย่างตรงจุด (精准考核)
เป็นการตรวจสอบเชิงปริมาณในผลการทำงานตั้งแต่การพิสูจน์ครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน การช่วยเหลือและบริหารจัดการลดความยากจนอย่างตรงจุด เพื่อรับรองการปฏิบัติงานในทุกระดับ ดำเนินการตามแนวทางนโยบายการลดความยากจนอย่างถูกต้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการลดความยากจนจะดำเนินการตรวจสอบผลการทำงานลดความยากจนของคณะ กรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลและรัฐบาลระดับมณฑลในทุกปี และรัฐบาลจัดทำรายงานสรุปการปฏิบัติงานตามแผนที่ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว นำส่งคณะกรรมการลดความยากจนส่วนกลาง คณะกรรมการส่วนกลางมอบหมายสถาบันวิจัย หรือองค์การทั่วไปดำเนินการตรวจสอบหรือสุ่มตรวจเพื่อประเมินตามตัวชี้วัดต่างๆ คณะกรรมการส่วนกลางจะประเมินรายงานผลการปฏิบัติงานของมณฑล โดยพิจารณาข้อมูลประวัติครอบครัวและหมู่บ้านยากจน หลังจากนั้น จัดทำเป็นรายงานเพื่อนำส่งคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการพรรค ฯ ส่วนกลาง ในขณะเดียวกัน แจ้งผลการประเมินไปยังมณฑลพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง
.
การใช้นโยบายการลดความยากจนอย่างตรงจุดของประเทศจีน ได้ประสบความสำเร็จหลายด้านตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การประเมินผลการใช้นโยบาย (Zheng, 2019) ได้พบว่า การพิสูจน์อย่างตรงจุด ช่วยให้แบ่งคนยากจน ศึกษาความต้องการของครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจนอย่างถูกต้อง เช่น เจ้าหน้าที่ได้คัดคนที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ความยากจนออก 12.8% เมื่อ ค.ศ. 2017 ซึ่งส่วนใหญ่เพราะครอบครัวมีรายได้เสริมจากแหล่งที่อื่น นโยบายการลดความยากจนอย่างตรงจุดได้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตสำคัญในระยะสั้น ช่วยสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของท้องถิ่นในระยะยาว การสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การจัดให้มีประกันภัยด้านเกษตรกรรม การปลูกป่าไม้และมาตรการอื่น ๆ ได้ช่วยให้ครอบครัวที่ยากจนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้มากขึ้น พร้อมมีรายได้เพิ่มขึ้น
.
การใช้นโยบายการลดความยากจนอย่างตรงจุดใน 4 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ที่ยากจนให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก การอพยพครอบครัวที่ยากจน การปรับปรุงบ้านพักอาศัย การปรับปรุงที่ดิน การประปาและการไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจากการคลังเป็นจำนวนมาก ได้เสร็จสิ้นเป็นส่วนใหญ่ ภาระด้านเงินลงทุนของการคลังจะลดน้อยลงในอนาคต นโยบายการลดความยากจนของจีน มีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปใน 5 ด้าน คือ การปรับปรุงระบบการลดความยากจนอย่างตรงจุดให้ดีขึ้น การพัฒนาแบบสีเขียวและส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อลดความยากจน ออกแบบแผนการส่งเสริมแรงงานเพื่อสร้างอุปทานแรงงานมากขึ้นแก่ครอบครัวที่ยากจน เปลี่ยนแนวทางการช่วงเหลือคนยากจนให้เข้าระบบประกันสังคม และเน้นการตรวจสอบและประเมินในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
.
ขอบคุณแฟ้มภาพจากสำนักข่าวซินหัว

ข่าวจาก สายงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI)
โดย Dr. Wang Daoming ดร. ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล และ วราวุฒิ เรือนคำ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์