โลกจับตาการพบกันของประธานาธิบดีจีนและสหรัฐอเมริกาในการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย

0
12

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมระดับโลกที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะการประชุมปีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกมีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน และหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน

สมาชิกของกลุ่ม G20 ประกอบด้วยผู้แทนสหภาพยุโรป และอีก 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี

ประชากรของกลุ่มประเทศ G20 คิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรโลกโลก นาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ 80-90ของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้นการที่ผู้นำของ 19 ประเทศและผู้แทนของสหภาพยุโรป มาพบปะหารือกันในเวทีนี้ ย่อมเป็นที่จับตาถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น โดยประเด็นสำคัญ ที่ผู้นำกลุ่ม G20 จะร่วมหารือกันในบาหลีซัมมิท มี 3 ประเด็นหลัก  คือ          

1. ความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคต่างๆ ในอนาคต

2. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

3. ความมั่นคงพลังงาน ที่มีผลกระทบจากวิกฤตรัสเซียยูเครน

และที่ต้องจับตาเป็นพิเศษสำหรับการประชุมสุดยอด G20 ครั้งนี้ เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน จะเข้าร่วมการประชุมนี้ ถือเป็นเข้าร่วมการประชุมในเวทีต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 3 และจะได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2021

โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่าการพบกันระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ จะมีการหารือโดยยึดหลักการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วการเคารพซึ่งกันและกัน  อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีความร่วมมือแบบ win-winหรือต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์  ขณะเดียวกันจีนต้องปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น จีนและสหรัฐอเมริกาจึงควรร่วมกันจัดการความแตกต่าง พัฒนาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด และร่วมกันผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐให้กลับไปสู่เส้นทางที่ของการพัฒนาอย่างมั่นคง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า มีหลายประเด็นที่ผู้นำสหรัฐต้องการหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย  ถ้ามีประเด็นใดที่ขัดแย้งกัน ก็อยากจะหาวิธีการคลี่คลายร่วมกัน

ดังนั้น จึงต้องติดตามผลของการหารือกันของผู้นำทั้งสองประเทศ และบทบาทของจีนในเวทีนี้ ที่จีนยืนยันว่าจะสนับสนุนอินโดนีเซียในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G20 และร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ยั่งยืน ร่วมกัน ตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมสุดยอดในครั้งนี้ที่ว่า ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งกว่าเดิม” Recover Together, Recover Stronger”

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย